ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

สรุป 10 ข่าวร้อนการเมืองปี 2552 (เดลินิวส์)

 1. เหตุการณ์เมษาฯ เดือด

          กลุ่ม นปช. ก่อการชุมนุมแบบยืดเยื้อเพื่อขับไล่รัฐบาลขั้นแตกหัก เริ่มจากการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2552 และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงวันที่ 8-14 เม.ย. 2552 ทั้งปิดเส้นทางการจราจรหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ จนไปถึงการล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา จ.ชลบุรี ปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และ ทำร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนรัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าระงับเหตุการณ์ และสามารถคลี่คลายสถานการณ์ โดยไม่มีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาปี 35
  
          2. ยิง "สนธิ ลิ้มทองกุล" เย้ย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

          เช้ามืดของวันที่ 17 เม.ย. 2552 ท่ามกลางการประกาศ ใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้เกิดเหตุอุกอาจ โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกลอบยิงด้วยอาวุธสงคราม รวม 100 นัด บริเวณใกล้กับสี่แยกบางขุนพรหม แต่นายสนธิกลับรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ ตำรวจตั้งปมสังหารไว้หลายประเด็นโดยเฉพาะประเด็นการเมือง แม้เหตุการณ์ครั้งนั้น จะกดดันรัฐบาลให้เร่งหาคนร้าย แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ หรือแม้กระทั่งระบุสาเหตุที่แท้จริงของคดี

          3. นิพนธ์ไขก๊อกเซ่นเก้าอี้ ผบ.ตร.

          การประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2552 เพื่อสรรหาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่กลายเป็นการชิงดำระหว่าง พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ที่เสนอชื่อโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่ ก.ต.ช. บางคนสนับสนุน พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. ที่สุดไม่มีข้อสรุป นายอภิสิทธิ์จึงสั่งเลื่อนการประชุมแบบไม่มีกำหนด ส่งผลกระทบต่อภาวะความเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึง "สัญญาณพิเศษ" จนสุดท้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องยื่นใบลาออก สะท้อนภาพรอยร้าวลึกภายในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นครั้งแรก

          4. สภาผู้แทนฯ ล่มซ้ำซาก

          ในปี 2552 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย คือ สมัยสามัญทั่วไป ระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-19 พ.ค. และการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ วันที่ 1 ส.ค.-29 พ.ย. ซึ่งมีการประชุมรวม 71 ครั้ง แต่เกิดเหตุสภาล่มจากปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ 7 ครั้ง ซึ่งในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณากรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2552 มีการประชุมสภาล่ม 3 ครั้งซ้อน อีกทั้งในการประชุมสภา ส.ส. ตะโกนด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคายถึงขั้นแจก "ของลับ" กลางห้อง ประชุมสภา และยังเกิดกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยพากันโดดการประชุมสภา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552 ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศกัมพูชา ขณะเดียวกันเกิดประเด็นการขอขึ้นเงินเดือนของ ส.ส.-ส.ว.

          5. ล้มประชุมอาเซียนพัทยา

          ประเทศไทย ทำหน้าที่จัดการประชุมอาเซียนในฐานะผู้นำอาเซียน แต่ทว่าภารกิจนี้ ไทยได้ทำหน้าที่ถึง 3 ครั้ง เริ่มจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 วันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. 2552 ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่พัทยา เมื่อวันที่ 10-12 เม.ย. แต่ก็ถูกล้มโดยกลุ่มคนเสื้อแดงบุกถึงในสถานที่การจัดประชุม สะท้อนภาพความวุ่นวายภายในประเทศที่ลุกลามสร้างความเสื่อมเสียต่อประเทศในสายตาชาวโลก ไทยจึงต้องแก้มือด้วยการจัดประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 และการประชุมกับประเทศคู่เจรจาใหม่เมื่อวันที่ 23-25 ต.ค ที่ อ.ชะอำ และ อ.หัวหิน ก่อนจะส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้ประเทศเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2553

          6. "เนวิน" พ้นบ่วงคดีกล้ายาง

          เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษายกฟ้อง 44 จำเลย ในคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา จำนวน 90 ล้านต้น หลังศาลตัดสิน จำเลยทั้ง 44 คน ไม่มีความผิดไม่ว่าจะเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตรฯ และนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช. คลัง คดีนี้หลายฝ่ายจับตามองโดยเฉพาะที่ตัวนายเนวิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเชื่อกันว่าถ้านายเนวินถูกตัดสิน อาจกระเทือนถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

          7. "บิ๊กจิ๋ว" คัมแบ๊กเข้าสังกัดเพื่อไทย

          จากมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็น 1 ในผู้กระทำผิดอาญาจากคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ได้สร้างความไม่พอใจต่อ พล.อ.ชวลิต จนถึงขั้นตัดสินใจหวนคืนเวทีการเมือง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2552 และรับตำแหน่งเป็นประธานพรรค แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ฝากข้อคิดสะกิดใจไปบอกถึง พล.อ.ชวลิต ว่า "ขอให้คิดให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นการกระทำที่เป็นการทรยศต่อชาติ"

          8. ตั้ง "ทักษิณ" ที่ปรึกษาฮุนเซน

          วันที่ 4 พ.ย. 2552 รัฐบาลกัมพูชาประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ต้องโทษจำคุก 2 ปี ให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา ขณะเดียวกันปฏิเสธการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้แก่ไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทยจึงประท้วง โดยเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชากลับทันที ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาได้เรียกเอกอัครราชทูตกลับเช่นกัน จากนั้นได้ลุกลามจนมีการจับกุมนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย ประจำหน่วยงานจราจรอากาศของบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส (แคตส์) ข้อหาจารกรรม แต่กษัตริย์นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา พระราชทานอภัยโทษแก่นายศิวรักษ์เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2552

          9. "สมัคร สุนทรเวช" ถึงแก่อนิจกรรม

          นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 74 ปี เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 ด้วยโรคมะเร็งตับ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นการปิดฉากนักการเมืองรุ่นลายคราม ที่มีลีลาทางการเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

          นายสมัครเริ่มต้นทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ต่อมาได้ก่อตั้งพรรคประชากรไทย และเคยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2543 ด้วยคะแนนเกิน 1 ล้านเสียง ก่อนมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนจนชนะเลือกตั้งก้าวขึ้นเป็นนายก รัฐมนตรีคนที่ 25 แต่ต้องหลุดจากตำแหน่งเพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้ตนเองจากกรณีเป็นพิธีกรรายการ "ชิมไป บ่นไป"

          10. ไทยเข้มแข็ง สธ.พ่นพิษ

          เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลสอบสวนสรุปว่า ส่อไปในทางทำให้เกิดการทุจริตจริง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ส่งผลให้นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ต้องประกาศลาออกในวันที่ 29 ธ.ค. และทำให้กฎเหล็ก 9 ข้อของนายอภิสิทธิ์สามารถใช้เป็นมาตรฐานได้จริง ทั้งนี้โครงการไทยเข้มแข็งถือเป็น "จุดขาย" ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หวังจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความนิยมทางการเมือง แต่ต้องมาสะดุดเพราะเกิดปัญหาเรื่องความไม่ชอบมาพากล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น