ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนนักแปลอิสระ กล่าวในการเสวนา “สื่อพลเมืองความจำเป็นแห่งยุคสมัย” วิพากษ์ข้อจำกัดสื่อหลักคือ การเซ็นเซอร์ตัวเอง ด้วยข้อจำกัดเรื่องทุน สปอนเซอร์ และการเซ็นเซอร์ตัวเอง ขณะที่คำว่า “ความเป็นกลาง” เพิ่งถูกใช้เมื่อข่าวถูกธุรกิจครอบงำโดยภัควดี ตั้งข้อสังเกตว่า แม้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าสื่อหลักขายข่าวให้กับคนอ่าน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น
"สื่อกระแสหลักไม่ได้ขายข่าวให้ผู้บริโภค แต่ขายผู้บริโภค (คนอ่าน) ให้กับบริษัทธุรกิจเพื่อซื้อโฆษณา” ภัควดีตั้งข้อสังเกตพร้อมกล่าวต่อไปว่า การอยู่รอดของสื่อหลักไม่ได้อยู่ที่ผู้ซื้อข่าว หากแต่อยู่ที่บริษัทที่จะซื้อโฆษณา และนี่เป็นข้อจำกัดข้อแรกของสื่อหลักคือการไม่สามารถปฏิเสธทุนนิยมได้
ข้อจำกัดประการต่อมา คือ พื้นที่สื่อมีจำกัด และตัดสินปัญหาเป็นขาวเป็นดำ การนำเสนอต้องง่าย และหากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือนิตยสารก็ถูกจำกัดความยาว ถ้าเป็นโทรทัศน์ก็ถูกจำกัดเวลาในการนำเสนอ ซึ่งภัควดีเห็นว่าสื่อนอกกระแส มีโอกาสในเรื่องการนำเสนอมากกว่าในแง่การนำเสนอยาวๆ
ปัญหาสื่อกระแสหลักอีกอย่างคือ มีสาระมากไม่ได้ ต้องบันเทิงควบคู่ไป “เราสังเกตได้ว่าทอล์กโชว์ในสื่อกระแสหลักจะจริงจังมากไม่ได้ ต้องมีตลกโปกฮาเข้ามาด้วย รายการถึงจะดังและมีคนดู แม้แต่รายการของสรยุทธ์ (สุทัศนะจินดา)”
ภัควดี กล่าวต่อไปว่า สื่อกระแสหลักของไทยมีลักษณะคล้ายอเมริกา คือสนใจแต่ปัญหาในบ้านตัวเอง แต่รู้เรื่องต่างประเทศน้อยมาก
“ข่าวในบ้านตัวเองนั้นทำข่าวละเอียดมาก เช่นประยุทธ์ (จันทร์โอชา)พูดอะไร เฉลิม (อยู่บำรุง)พูดว่าอะไร แต่เรารู้เรื่องต่างประเทศน้อยมาก และจะรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านน้อยลงอีก ข่าวที่ทำก็จะเกาะตามซีเอ็นเอ็นไป เรารู้เรื่องเพื่อนบ้านน้อยมากทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อเรา และเมื่อเรารู้เกี่ยวกับต่างประเทศน้อย ก็ไม่มีข้อมูลที่จะเปรียบเทียบ ไม่สามารถเข้าใจเรื่องในแง่มุมอื่นๆ เช่น กรณีที่อาจารย์เคร็ก เรย์โนลด์ตั้งคำถามว่า การพูดว่าเมืองไทยซื้อเสียงมาก ขณะที่สิงคโปร์เลือกตั้งเสร็จเอาเงินเข้าบัญชีประชาชนเลย อย่างนี้ซื้อเสียงหรือเปล่า”
ข้อสังเกตอีกประการคือ สื่อกระแสหลักสะท้อนทัศนคติของชนชั้นนำ เช่นเรื่อง การค้าเสรี ระบบทุนนิยม การบริโภค เศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็นไฟต์บังคับที่ต้องนำเสนอ ขณะที่ประชาชนคิดอย่างไร เห็นด้วยกับเศรษฐกิจพอเพียงไหม ความคิดที่โต้แย้งเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก
ประการต่อมา คือการเน้นการกระตุ้นอารมณ์มากกว่าเหตุผล “อะไรที่ดรามา ฟูมฟาย แม้แต่รายการข่าวทีวีไทยนี่ชอบมาก เช่น กรณีน้องเคอิโงะ มันโยงประเด็นไปใหญ่กว่านี้ได้ เช่นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง แต่ไปจับประเด็นที่ทำให้น้ำหูน้ำตาไหลไว้ก่อน”
อีกประการคือ ไม่มีค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอ่าน แม้ว่าหลังๆ จะมีการเปิดพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น แต่คนที่ทำได้สำเร็จพอสมควรคือเว็บไซต์เมเนเจอร์ คือการดึงคนเข้ามาทำให้คนได้รู้สึกว่ามีปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะคอลัมนิสต์อย่างซ้อเจ็ด
“ 'ผู้จัดการ' ฉลาดในการใช้ช่องทางพวกนี้ และทำให้คนอ่านที่แม้จะไม่เห็นด้วยก็ต้องการจะตอบโต้ แต่เมื่อก่อนนี้โอกาสที่คนดูจะตอบโต้กับการเสนอข่าวน้อย หรือทำไม่ได้เลย แต่ปัจจุบันทำได้มากขึ้นโดยสื่อสิ่งพิมพ์ทำออนไลน์มากขึ้น หรือกรณีที่รายการโทรทัศน์เปิดให้คนดูแสดงความเห็น เช่น sms แต่ก็ถูกเซ็นเซอร์”
ประเด็นต่อมาคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง ที่มาจากหลายปัจจัย เช่นกลัวไม่ได้สปอนเซอร์ทั้งจากภาคธุรกิจ จากรัฐบาลที่มีความเป็นเผด็จการ หรือแม้แต่ปัญหาของนักข่าวที่ไม่เป็นกลาง แต่อยากทำตัวให้เหมือนเป็นกลาง แต่ข่าวบางด้านไม่ได้รับการนำเสนอ หรือในบางกรณีที่นักข่าวต้องใช้เส้นสายในการเข้าถึงแหล่งข่าวทำให้เกิดประโยชน์ต่างตอบแทน เขียนข่าวบางอย่างที่แหล่งข่าวอยากให้เขียน หรือไม่เขียนบางอย่างที่แหล่งข่าวไม่อยากให้เขียน เป็นต้น
ภัควดี กล่าวว่า แม้สื่อทางเลือก และนักข่าวพลเมืองจะพยายามเข้าไปใช้พื้นที่ของสื่อกระแสหลักในการนำเสนอปัญหาของประชาชน แต่กลับล้มเหลวในการผลักดันประเด็น หรือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหา เพราะกลไกรัฐไทยมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ทำให้ข่าวเล็กๆ จากพื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้
“ปัจจุบันปัญหาก็คือ ทุกอย่างไปขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ไปขึ้นอยู่กับที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าเปลี่ยน เช่น หากเรานึกถึงญี่ปุ่น คือการตัดสินใจในประเด็นหลายอย่าง เกิดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัด การทำข่าวจะมีผลมากต่อความเปลี่ยนแปลง การทำข่าวจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลย การทำข่าวจะมีอิทธิพลได้ และกำหนดนโยบายได้ทันที และเมื่อทุกอย่างขึ้นกับส่วนกลาง การผลักดันนโยบายก็ทำไม่ได้ เพราะการต่อรองเป็นลำดับชั้นลงมา” ภัควดีกล่าวและย้ำว่า ดังนั้นแล้ว สำหรับสื่อภาคพลเมืองนั้น ต้องทำเรื่องที่ใหญ่กว่าประเด็นในพื้นที่ด้วย
สำหรับวิธีเขียนข่าวของสื่อพลเมืองที่อาจกังวลเรื่องความน่าสนใจของเรื่องนั้น ภัควดี กล่าวว่า การเขียนให้น่าสนใจขึ้นกับวัฒนธรรมการอ่านของประเทศ และไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่งของประเทศ ที่คนในประเทศไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ
ภัควดีกล่าวในประเด็นสุดท้ายว่า เรามักได้ยินว่าจรรยาบรรณนักข่าวคือความเป็นกลาง แต่ตั้งคำถามว่า ความเป็นกลางที่ว่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ โดยภัควดีกล่าวว่า อาชีพนักข่าวหรือสื่อมวลชนเพิ่งเกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 18-19 นี่เอง และผู้สื่อข่าวในยุคแรกๆ เช่น จอร์จ ออร์เวล ที่ทำข่าวสงครามกลางเมืองสเปน หรือติโต อาดี สุรโย ในอินโดนีเซีย ไม่เคยมีความเป็นกลาง รายงานข่าวโดยเข้าข้างฝ่ายที่เขาคิดว่าถูกอย่างชัดเจน คือพูดถึงความยุติธรรมและความถูกต้อง
“ความเป็นกลางเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจครอบงำสื่อหมดแล้ว ต้องการให้นักข่าวเกิดความเป็นกลาง ไม่ยอมให้ตัดสินอะไร ต้องให้นักข่าวรายงานเฉยๆ แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่คนจะเป็นกลาง ลึกๆ แล้วต้องเข้าข่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และคำว่าเป็นกลางยังกลายมาเป็นข้ออ้างในการเซ็นเซอร์ประเด็นที่ตัวเองไม่เห็นด้วย”
ภัควดีกล่าวว่า สำหรับสื่อท้องถิ่นนั้น ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้คนที่ไม่เคยมีเสียง และพยายามชี้ถูกชี้ผิด และบอกชัดเจนเลยว่าเข้าข้างฝ่ายไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายที่ตนเองเข้าข้าง
“พูดให้ชัดๆ ไม่มีลักษณะปกปิด แต่เวลาพูดว่าไม่เป็นกลาง ไม่ได้แปลว่าไม่วิพากษ์วิจารณ์นะคะ เช่น เราสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน หรือการใช้โฉนดชุมชน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่วิจารณ์ข้อเสียของโฉนดชุมชน” ภัควดีกล่าวในทึ่สุด
การเสวนา “สื่อพลเมือง ความจำเป็นแห่งยุคสมัย” เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมเชิงปฏิบัติการ นักข่าวพลเมือง TCIJ (ภาคเหนือ) ที่โรงแรม สินธนารีสอร์ต เชียงใหม่ โดยศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น