ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

อธิปไตย (อธิปเตยยะ)

เรื่องของอธิปไตย  เป็นเรื่องที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นช่วงของการเรียกร้องประชาธิปไตยในหมู่คนไทยด้วยกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีความเห็นที่แตกต่าง ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  เราก็ต้องมีสติในการรับฟังข่าวสาร และมีสติในการพิจารณาถึงการกระทำอันใดอันหนึ่งที่จะพึงมี อย่าให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น 
          ในทางพระพุทธศาสนานั้นก็ได้สอนเรื่องของ "อธิปไตย" ไว้เหมือนกัน จึงได้นำมาให้ท่านทั้งหลายได้พินิจพิจารณา เพื่อที่จะได้เข้าใจในความหมายของคำว่า "อธิปไตย
          อธิปเตยยะ หรือ อธิปไตย ที่เราคุ้นเคยนั้น หมายถึง  ความเป็นใหญ่ เป็นความต้องการมีอำนาจสูงสุดในการกระทำ  มีอยู่ ๓ อย่างด้วยกัน คือ
          ๑. อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่  หมายถึง ความถือตนเป็นใหญ่ ยึดเอาความคิดเห็นของตนเป็นที่ตั้ง  จะทำสิ่งใดก็นึกถึงแต่ประโยชน์ที่ตัวจะได้รับเป็นสำคัญ  คำนึงถึงแต่เกียรติยศ ชื่อเสียง ความมีหน้ามีตาของตน  เป็นเหตุให้เป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้
          ๒. โลกาธิปเตยยะ  ความมีโลกเป็นใหญ่  หมายถึง การถือตามเสียงข้างมาก  ตามกระแสนิยม  หรือความต้องการของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ  ทำอะไรไปตามกระแส ตามใจคนส่วนมาก เป็นเหมือนดาบสองคม คือ ถ้าเสียงส่วนมากมาจากผู้มีศีลมีธรรมก็เป็นคุณ  ตรงกันข้าม ถ้าเสียงส่วนมากเป็นคนทุศีล ก็ให้โทษ
          ๓. ธัมมาธิปเตยยะ  ความมีธรรมเป็นใหญ่  หมายถึง การยึดถือหลักการความถูกต้องตามเหตุผล  ความเที่ยงธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ถือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสำคัญ  ไม่มีอคติอันเป็นเหตุให้เกิดความไม่ยุติธรรม  จะทำอะไรก็ยึดถือกฏหมาย  กฏกติกา หลักธรรมเป็นหลัก ไม่ยึดตนหรือไหลไปตามกระแสนิยมของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นที่ตั้ง
         
หมายเหตุ  -  อคติ  หมายถึง  ความลำเอียง  เอนเอียงเข้าข้าง  วางตัวไม่เป็นกลาง ไม่มีความยุติธรรม  มีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ
          ๑. ฉันทาคติ  หมายถึง  ความลำเอียงเข้าข้างโดยถือเอาความรักใคร่พอใจของตนเป็นที่ตั้ง
          ๒. โทสาคติ  หมายถึง ความลำเอียงเข้าข้าง โดยถือเอาความไม่ชอบใจไม่พอใจของตนเป็นที่ตั้ง ทำให้เสียความยุติธรรมเพราะลุแก่อำนาจความเกลียดชัง
          ๓. โมหาคติ  หมายถึง  ความลำเอียงเข้าข้างเพราะความหลง เป็นคนหูเบา เชื่อคนง่าย
          ๔. ภยาคติ  หมายถึง  ความลำเอียงเข้าข้าง เพราะความกลัว หรือ เกรงใจ  ไม่เป็นตัวของตัวเอง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้อื่น
          อคติทั้ง ๔ ข้อนี้ ถ้าหากกระทำในข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้เสียซึ่งความยุติธรรม  ขาดภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น