ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

อำนาจอธิปไตยเหนือวงโคจรสถิตตามกฎหมายระหว่างประเทศ

[]ปัญหาเกี่ยวกับความคับคั่งของวงโคจรสถิตย์[/]

          ในการใช้เสรีภาพในอวกาศในทางปฏิบัติจะมีข้อจำกัดให้ไม่อาจกระทำได้ เพราะตำแหน่งในวงโคจรสำหรับให้วัตถุอวกาศปฏิบัติการมีจำนวนจำกัด บริเวณพื้นที่สำหรับตำแหน่งในวงโคจรที่จะให้วัตถุอวกาศเช่นดาวเทียมให้บริการอย่างคุ้มค่า มีแค่ 3 ย่านหลักๆ ได้แก่บริเวณเหนือทวีป อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียซึ่งเป็นบริเวณที่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะลูกค้าที่ต้องการใช้บริการมีอำนาจในการซื้อบริการ ส่วนบริเวณอื่นๆ ก็มีความต้องการแต่ไม่พร้อมด้านการเงิน อันทำให้เกิดปัญหาต่อการจัดส่งดาวเทียมไปไว้ในตำแหน่งในวงโคจรซึ่งมีแนวโน้มเรื่องความคับคั่งสูง

แต่โดยที่วงโคจรสถิตย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีปริมาณจำกัดมาก จึงทำให้นานาชาติต้องแย่งชิงกันส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรในวงโคจรนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความคับคั่งจนต้องมีการจัดสรรตำแหน่งในวงโคจรนี้ให้แก่ประเทศต่างๆ อย่างเป็นธรรม โดยมีประเทศมหาอำนาจขอให้เพิ่มเงื่อนไขขึ้นมาว่า โดยให้ได้ประโยชน์สูงสุดซึ่งหมายความว่าหากรัฐใดมิได้ใช้ประโยชน์จากตำแหน่งในวงโคจรสถิตย์ ที่ตนจองเอาไว้ถึงแม้จะจ่ายค่าจองเป็นประจำ รัฐอื่นก็มีสิทธิที่จะเข้าไปใช้ได้และโดยที่ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศใดที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ เมื่อสหภาพการโทรคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union - ITU) เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีหน้าที่จัดสรรย่านความถี่ของคลื่นสัญญาณให้ประเทศต่างๆ อยู่แล้ว และดาวเทียมเพื่อการสื่อสารจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ ITU จึงทำหน้าที่เป็นผู้จดทะเบียนตำแหน่งใน        วงโคจรสถิตย์ด้วยโดยปริยาย โดย ITU เป็นผู้จัดสรรย่านความถี่ให้โครงการดาวเทียม    แต่ละดวงด้วย ซึ่งเมื่อได้จดทะเบียนการจัดสรรให้โครงการใดแล้ว โครงการนั้นย่อมมีสิทธิที่จะใช้ตำแหน่งในวงโคจรสถิตย์นั้นๆ ก่อนผู้อื่น ถ้าโครงการดาวเทียมที่เกิดในภายหลังจะทำให้สัญญาณรบกวนกันโครงการที่เกิดขึ้นภายหลังจะต้องเจรจาหารือ (consult) กับโครงการที่มีอยู่ก่อนแล้วเพื่อร่วมกันหาทาง ปรับระบบดาวเทียมของตนมิให้มีคลื่น สัญญาณรบกวนกัน

ทั้งนี้การได้รับการจัดสรรตำแหน่งในวงจรสถิตย์ (orbital slot) ไม่ทำให้รัฐที่ได้รับการจัดสรรมีกรรมสิทธิ์ในตำแหน่งในวงโคจรนั้น เพียงแต่ทำให้รัฐนั้นๆมีสิทธิใช้ตำแหน่งในวงโคจรนั้นก่อนรัฐอื่นๆ เท่านั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะขายตำแหน่งในวงโคจรสถิตย์ให้แก่ผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามไว้โดยแจ้งชัดมิให้ขาย “สิทธิ”นั้นให้แก่รัฐอื่นบางประเทศเช่นประเทศ Tonga จึงขายสิทธิของตนให้แก่รัฐอื่นหรือให้ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมของรัฐอื่นเช่าตำแหน่งในวงโคจรสถิตย์ของตนได้

          Michael  J.  Finch  กล่าวว่า  “จากการคำนวณในทางทฤษฎีพบว่าระดับเทคโนโลยีปัจจุบันนี้สามารถให้ดาวเทียมอยู่ในวงโคจรสถิตย์ได้ถึง  2,000  ดวง  หรือให้ดาวเทียมอยู่ห่างกันอย่างน้อย  18  กิโลเมตร  ดาวเทียมจะสามารถโคจรได้โดยไม่ปะทะกันเอง”

          กองแผนงาน  กรมไปรษณีย์โทรเลข  ได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพการณ์คับคั่งของพบว่า  ที่ย่านความถี่  6/4  GHz  ในวงโคจรบริเวณเส้นศูนย์สูตรนั้น  ห้วงอวกาศแทบจะไม่มีเหลือว่างอยู่เลย   ทั้งนี้ปรากฏตามภาพแสดงให้เป็นถึงปัญหาความคับคั่งของวงโคจรสถิตย์ในปัจจุบัน  และมีแนวโน้มว่าจะคับคั่งมากขึ้นไปอีกจนในที่สุดอาจไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป
[]
ปัญหากฎหมายอวกาศในการเรียกร้องอำนาจอธิปไตยเหนือวงโคจรสถิตย์[/]

โดยทั่วไปแล้วประเทศกำลังพัฒนา  ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมระหว่างประเทศ  ยังขาดความพร้อมที่จะมีดาวเทียมเป็นของตนเอง  เริ่มหวั่นเกรงว่าเมื่อถึงเวลาที่ประเทศของตนเองมีขีดความสามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงท้องฟ้าได้นั้น  วงโคจรดาวเทียม เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมก็จะมีดาวเทียมแออัดจนกระทั่งไม่มีตำแหน่ง  (Slot)  ให้ดาวเทียมของตนอยู่ได้  กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจึงได้เรียกร้องให้มีการจัดสรรตำแหน่งของตนแลเรียกร้องให้  “จัดระเบียบการสื่อสารระหว่างประเทศใหม่”  (New  International  Communications  Order)  ประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตเส้นศูนย์สูตร  8  ประเทศ  ประกอบด้วย  บราซิล  โคลัมเบีย  คองโก  เอคัวดอร์  อินโดนีเซีย  เคนยา  อูกันดา  และแซร์  ได้ประกาศอ้างสิทธิว่าบริเวณวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นบริเวณที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐในเอกสารที่ชื่อว่า  Bogota  Declaratioon  1976  โดยอ้างเหตุผลว่าดาวเทียมจะโคจรอยู่ได้ต้องอาศัยแรงดึงดูดของโลก  ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผล ที่จะอ้างว่าวงโคจรดาวเทียมนี้เป็นส่วนที่อยู่ในห้วงอวกาศ  (Outer  Space)  

          ห้วงอวกาศเป็นบริเวณที่อยู่เหนือพื้นโลก ซึ่งครอบคลุมทั้งห้วงอวกาศและดวงดาวต่างๆ  สำหรับห้วงอวกาศมีลักษณะพิเศษในตัวเอง  คือเป็นบริเวณที่มีสถานะระหว่างประเทศทำนองเดียวกับน่านน้ำสากล  หรือทะเลหลวง  (High  Seas)  ในกฎหมายทะเล  ซึ่งไม่เป็นของรัฐใดและมิได้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐใดๆ   มีปัญหาต้องพิจารณาว่าพื้นที่ที่เป็นห้วงอวกาศเริ่มต้นจากจุดใดบนท้องฟ้า  พื้นที่วงโคจรสถิตย์เป็นส่วนหนึ่งของห้วงอวกาศหรือไม่  ข้อกล่าวอ้างตาม Bogota  Declaratioon  1976  รับฟังได้หรือไม่

          ตามสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจ และการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่นๆ  นั้น  ห้วงอวกาศทั้งหมดรวมถึงดวงจันทร์และเทหวัตถุทั้งหลายเป็นทรัพย์สินร่วมกันของมนุษยชาติ  ไม่อยู่ในอำนาจของรัฐใดที่จะเข้ายึดครอง  

          การแบ่งเขตระหว่างอวกาศกับน่านฟ้าหรือชั้นบรรยากาศว่า  ชั้นบรรยากาศสิ้นสุด ณ จุดใดและอวกาศเริ่มต้น ณ จุดใด ซึ่งแต่ก่อนนี้จะดูจากความหนาแน่น (density) ของอากาศเป็นเกณฑ์ โดยดูจากว่าเพดานบินสูงสุดของอากาศยานที่บินโดยอาศัยการพยุงตัวของอากาศอยู่ ณ ที่ใดก็ให้ถือว่าชั้นบรรยากาศสิ้นสุดลง ณ ที่นั้น  แต่ปัจจุบันการกำหนดเขตแดนห้วงอวกาศนั้นมีแนวคิดอยู่หลายแนวคิด  แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ  แนวคิดเกี่ยวกับระยะอวกาศ

          ชูเกียรติ  น้อยฉิม  ได้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับระยะอวกาศ  (The Spatial Approach)    ว่า “แนวคิดนี้พยายามที่จะสร้างหรือกำหนดเขตแดนที่ต่ำสุดของห้วงอวกาศ (The  Boundary  of  Outer  Space)  ซึ่งกำหนดความสูงโดยเป็นที่ยอมรับของ  COPOUS  ซึ่งใช้แนวคิดเกี่ยวกับระยะอวกาศที่ใช้ทฤษฎีว่าด้วยจุดต่ำสุดของวงโคจรดาวเทียม มาเป็นตัวกำหนดโดยถือว่า ในบริเวณที่อยู่เหนือเส้นความสูงในจุดที่ต่ำสุดของดาวเทียมที่สามารถโคจรเพื่อใช้งานอยู่ได้ปกติและใกล้โลกมากที่สุดประมาณ  100 (± 10)  กิโลเมตร  เหนือระดับน้ำทะเลเป็นห้วงอวกาศ   และในห้วงอวกาศนั้นเทหวัตถุสามารถเคลื่อนที่รอบโลกได้โดยไม่อาศัยระบบขับเคลื่อนใดๆ ”

          อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขอบเขตของห้วงอวกาศอย่างชัดเจน ทำให้ กลุ่มประเทศบริเวณเส้นศูนย์สูตร กล่าวอ้างว่าวงโคจรสถิตย์นั้นขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดของโลก  จากความสัมพันธ์กับโลกดังกล่าวนี้จึงทำให้มิได้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอวกาศ  ดังนั้นส่วนใดของวงโคจรอยู่เหนือรัฐศูนย์สูตรใดก็ควรอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐนั้น  ข้อกล่าวอ้างนี้มีข้อพิจารณาว่ามีเหตุผลรับฟังได้หรือไม่

          เมื่อเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า วงโคจรสถิตย์มีจำกัดอยู่แค่บริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรเท่านั้นยิ่งทำให้วงโคจรสถิตย์มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด และเป็นสิ่งที่หมายปองของทุกๆ รัฐ  ดังนั้นบรรดารัฐศูนย์สูตรจึงเรียกร้องอธิปไตยเหนือวงโคจรนี้  เมื่อเป็นที่รู้กันว่าวงโคจรสถิตย์มีจำกัดและต้องมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมการเรียกร้อง และอ้างสิทธิอธิปไตยจึงถูกคัดค้านอย่างหนัก  และปฏิเสธโดยรัฐอื่นๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมหาอำนาจทางอวกาศ  ซึ่งยืนยันว่าวงโคจรนี้เป็นส่วนหนึ่งของอวกาศ  เนื่องจากข้ออ้างของรัฐศูนย์สูตรมิได้ตรงกับความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ ที่ว่าวงโคจรนี้มิได้ขึ้นอยู่เพียงกับแรงดึงดูดของโลกบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร  แต่เกี่ยวข้องกับแรงดึงดูดของโลกทั้งใบ  และยังขึ้นอยู่ปัจจัยอื่นๆ  เช่น  ความสัมพันธ์กับดวงจันทร์  และดวงดาวอื่นๆ  ในระบบ               สุริยจักรวาล  ยิ่งกว่านั้น  วงโคจรเป็นเพียงทิศทางของการบินของวัตถุอวกาศรอบโลก  ซึ่งจะมีตัวตนอยู่ก็เฉพาะสำหรับการสัญจรของวัตถุอวกาศเท่านั้น  จึงไม่อาจอ้างอธิปไตยเหนือวงโคจรนี้ได้   ที่สำคัญประเทศมหาอำนาจต่างถือปฏิบัติหลักการนี้ตลอดมาและไม่ปรากฏว่ามีการคัดค้านอย่างจริงจัง  จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าประชาคมระหว่างประเทศต่างถือปฏิบัติกันมาจนเกิดมีความเชื่อมั่นว่าหลักการนี้เป็นกฎหมาย  (Opinio  Juris)  หรือเชื่อมั่นว่ากฎหมายบังคับให้ต้องปฏิบัติเช่นนั้น  (Opinio  Juris  Sive  Necessitatis)

[]แนวทางการแก้ไขปัญหา[/]
          จากปัญหา ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น  เมื่อวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา  พบว่า  มีแนวทางแก้ไขดังนี้

          โดยแท้จริงแล้วกล่าวได้ว่าปัญหาเกิดจากความมีจำกัดของทรัพยากร  นั่นคือพื้นที่วงโคจรสถิตย์  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห้วงอวกาศ  โดยที่ประชาคมระหว่างประเทศต่างยอมรับกันว่าเป็นทรัพย์สินร่วมกันของมนุษยชาติ ไม่อยู่ในอำนาจของรัฐใดที่จะเข้ายึดครอง  ประกอบกับการยอมรับ ในหลักการใช้เสรีภาพในห้วงอวกาศในทางสันติ ตามสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจ และการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่นๆ  ในระยะแรกของการใช้พื้นที่ต่างถือหลักใครมาก่อนได้ก่อน  (First-come, First-served)  ภายใต้หลักการนี้ผู้ที่มาภายหลังก็จะไม่ได้สิทธิลำดับก่อนในการเข้าใช้ประโยชน์  ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นหลักการที่มีลักษณะผูกขาด  จึงมีความพยายามสร้างระบบควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ในห้วงอวกาศ โดยเฉพาะ  อย่างยิ่ง วงโคจรสถิตย์ขึ้นมาใหม่  ตามแนวคิดการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม  โดยจัดให้มีขั้นตอนของข้อมูลตีพิมพ์ล่วงหน้า เพื่อให้สิทธิแก่ประเทศทั้งหลายในการที่จะแสดงเจตนาให้เห็นถึงความต้องการในครั้งแรกที่จะเข้าใช้ประโยชน์ จากตำแหน่งที่ตั้งในวงโคจรสถิตย์  และยังมีขั้นตอนพื้นฐานที่สำคัญคือการประสานงานและการดำเนินการแจ้งจดทะเบียนไว้

          องค์การสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ  (ITU)  ได้ออกข้อมติประกาศว่า     วงโคจรดาวเทียมเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด จึงควรใช้อย่างประหยัด และ              มีประสิทธิภาพ  ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันจากทุกประเทศทั่วโลก  ต่อมามีการกล่าวถึงสิทธิแห่งความเท่าเทียมกัน  (Equal  Right)  ของทุกประเทศในการที่จะเข้าใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งของดาวเทียมในวงโคจรดาวเทียม  ประเทศต่างๆ  ที่ใช้ประโยชน์อยู่ก่อน  ไม่ควรที่จะได้รับสิทธิพิเศษถาวรอื่นๆ  ก่อนประเทศอื่นใดที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในภายหลัง  รวมทั้งไม่ควรที่จะกระทำการใดๆ  ที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าใช้ประโยชน์ของประเทศอื่นด้วย  อย่างไรก็ตาม  แม้ข้อว่ามตินี้จะได้รับการสนับสนุนจากจากประเทศสมาชิกทั้งหลายก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอำนาจบังคับทางกฎหมายที่จะทำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้

          ดังนั้น  ปัญหาจึงย้อนกลับมาสู่หลักปรัชญาทางกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นต้นสายธารของหลักกฎหมายอวกาศ  นั่นคือ  การยอมรับนับถือที่จะผูกพันตนในความตกลงระหว่างประเทศ  เพราะหากประชาคมระหว่างประเทศให้ความร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังในการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน  และแบ่งปันในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่วงโคจรสถิตย์โดยตั้งอยู่บนหลักการแห่งความเท่าเทียมกัน และมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมโดยอาศัยองค์การระหว่างเทศ  นั่นคือ  องค์การสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ  (ITU)   เป็นกลไกในการขับเคลื่อน  และเนื่องจากองค์ความรู้ด้านกฎหมายอวกาศยังมีความจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาต่อไปในอนาคต  ทั้งนี้เพราะปัจจัยด้านเทคโนโลยี ของมนุษยชาติมีความเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง  ทำให้เกิดความจำเป็น ต้องพัฒนาระบบกฎหมายอวกาศให้สามารถใช้บังคับต่อสังคมโลก ได้อย่างเป็นมีประสิทธิภาพ  และธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น