ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

พินัยกรรมขงเบ้ง--บทสะท้อนคุณธรรมนักการเมืองไทย

ขงเบ้งได้รับการยกย่องว่าหยั่งรู้ดินฟ้า มหาสมุทร ได้รับฉายาจากบังเต็กกงว่า "ฮกหลง" หมายถึง มังกรซุ่ม หรือ มังกรหลับ รับใช้ราชวงศ์เล่าถึง 2 ชั่วอายุคน แม้เมื่อมีชีวิตอยู่ ขงเบ้ง ได้สร้างมาตรฐานคุณธรรมของการบริหารบ้านเมืองไว้อย่างมาก และเมื่อเสียชีวิต พินัยกรรมของท่าน ยังเป็นบทเรียน สั่งสอนคนรุ่นต่อ ๆ มา อย่างน่าทึ่ง

ในบรรดาเสนาบดีทั้งหลาย ในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า ... “ขงเบ้ง” เป็นมหาเสนาบดีที่มีสติปัญญาหลักแหลม เป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าเล่าปี่ ในการบริหารจ๊กก๊ก อันเป็นหนึ่งในก๊กทั้งสาม ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ประวัติของท่าน...ขงเบ้งเป็นปัญญาชนชาวนา มีเจตนาที่อุทิศตนถวายตัวให้กับเล่าปี่ เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองที่กำลังตกต่ำและเกิดวิกฤติ แบ่งเป็นฝักฝ่าย ขงเบ้งเลือกที่จะอยู่กับฝ่ายเล่าปี่ผู้ชูธงธรรมะต้านอำนาจทรราชโจโฉ ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น

อัครมหาเสนาบดี หรือนายกรัฐมนตรีผู้มีอาญาสิทธิ์นามว่า โจโฉ มิได้บริหารประเทศ ตามพระราชประสงค์ขององค์กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่กลับบริหารประเทศเพื่อตนเอง โดยออกระเบียบแก้กฎหมายเพื่อตัวและพวกพ้องของตัว และไม่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับพระราชทานกระแสรับสั่งของพระองค์ฮ่องเต้ (เอ ... คุ้น ๆ ไหมนะ ว่าเหมือนใคร)

ต่อมาขงเบ้งรู้ตัวเองว่ากำลังจะตายเมื่ออายุ 54 ปี กลางสนามรบที่ทุ่งอู่จั้ง ขงเบ้งจึงทำพินัยกรรมถึงฮ่องเต้พระเจ้าเล่าเสี้ยน เมื่อได้ฟังพินัยกรรมของขงเบ้งเมืองจีนแล้วก็นึกถึงนักการเมืองไทย โดยเฉพาะการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองบ้านเรา
พินัยกรรมของขงเบ้งมีความว่า ...

“...ได้ยินมาว่า ความเป็นความตายเป็นเรื่องธรรมดาโลก ยากที่จะหลีกหนี ถวายชีวีเป็นราชพลี คือปณิธานของขุนพล ข้าพระองค์จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) ผู้กิ๊กก๊อกกระจอกด้วยปัญญา ถือกำเนิดเกิดมา ในขณะที่บ้านเมืองมีวิกฤติเกิดจลาจล แบ่งเป็นฝักฝ่าย ระส่ำระสาย จำต้องนำ พลกรีธาทัพเข้าปราบศัตรูแดนเหนือ กระทำการยังไม่สำเร็จ ต้องมาล้มป่วยเข้า ขั้นอุกฤษฏ์ สิ้นหวัง ชีวิตใกล้ถึงการดับสูญในวันพรุ่ง มิอาจบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เป็นที่โศกาอาดูรขื่นขมยิ่งนัก ขอให้พระองค์ทรงมีพระทัยสันโดษ ทมะขันติ รักใคร่ในอาณาประชาราษฎร์ บรรลุซึ่งกตัญญุตาธรรมต่อพระบรมชนก เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ อุปถัมภ์ค้ำชูนักปราชญ์ผู้สมถะ ใกล้ชิดขุนนางที่ทรงภูมิปัญญา หลีกห่างขุนนางฉ้อฉล ทุจริต รักษาขนบจารีต

เดิมข้าพระองค์มีต้นหม่อนอยู่ 800 ต้น ที่นาอยู่ 50 มู่ (ไร่จีน) ทรัพย์สินเหล่านี้เพียงพอต่อการทำกินของลูกหลาน ในขณะที่ข้าพระองค์ปฏิบัติภารกิจถวายอยู่ภายนอก ข้าวของเครื่องใช้ล้วนแต่เป็นราชการโดยแท้ ไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ

ในวันที่ข้าพระองค์จะกราบถวายบังคมตายจาก ภายในบ้านไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ภายนอกบ้านก็ไม่มีทรัพย์สมบัติอื่นใด อันจะเป็นการระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลพระบาท ซึ่งเป็นการอกตัญญูต่อแผ่นดิน”


ขงเบ้ง คงเป็นมหาเสนาบดีในอุดมคติ ซื่อสัตย์ต่อฮ่องเต้ อุทิศตนเพื่อบ้านเมือง ยึดมั่นคุณธรรม บางคนอาจคิดว่า คนดี ๆ เช่นนี้ มีอยู่จริงหรือ และมีอยู่มากมายหรือไม่ ... คำถามนี้ กลับตอบได้อย่างยากลำบาก เพราะคุณธรรม เป็นสิ่งสะท้อนสำนึก ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่สามารถชั่ง ตวง วัด เป็นอัตราอย่างใดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น